พระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฏ เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะ พระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คือ “จุฬาลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือ “มงกุฎ” อีกทั้ง พระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” อีกด้วย เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความหมายว่าพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ จึงได้ใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์

        ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้ตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนข้าราชการพลเรือนและหลังจากนั้นจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสภามหาวิทยาลัยลงมติก่อตั้งโรงเรียนเตรัยมอุดมศึกษา จึงรับเอาพระเกี้ยวมาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียนด้วย
 
         พระเกี้ยวน้อย เป็นตราสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว ที่ปักอยู่บนเสื้อของนักเรียนเตรียมอุดม โดยนักเรียนชายจะประดับพระเกี้ยวทองไว้บนอกขวา และนักเรียนหญิงประดับพระเกี้ยวเงินไว้บนอกซ้าย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่นักเรียนทุกคนยกย่องและเทิดทูนไว้ และพึงระลึกอยู่เสมอว่าเรามีพระเกี้ยวประดับอยู่บนอก นักเรียนทุกคนต้องมีเกียรติ ประพฤติตนให้เหมาะสม ถึงจะเหมือนเป็นการต้องแบกรับภาระไว้ แต่ก็เป็นการแบกรับด้วยความเต็มใจ หลังจากเปิดเทอม จะมีพิธีประดับพระเกี้ยว ซึ่งเป็นวันที่นักเรียนใหม่ จะได้เป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาอย่างเต็มตัว